สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยประชาชน 24 ชั่วโมง

สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยประชาชน 24 ชั่วโมง

Monday, June 4, 2018

เมืองไทย คนดีอยู่ยาก — ดร. ป๋วย อึ๊งภากร

ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเล่าว่า ในช่วงปลายที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจ มีคนสามคนถือเขาเป็นศัตรู ทั้งสามล้วนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ภายใต้ความขัดแย้งและแรงกดดัน ผู้ใหญ่จึงส่งเขาไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ


ป๋วยเป็นลูกคนจีน ฐานะไม่ดี ชีวิตต้องดิ้นรนแต่เด็ก อาศัยที่รักดี เรียนจบธรรมศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง


หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตรวมวิชากฎหมาย การเมืองและเศรษฐการ สอนในลักษณะสหสาขา เพื่อให้นักศึกษารู้รอบกว้าง สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2480


ปีถัดมาเขาสอบชิงทุนรัฐบาลได้ ไปเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science มหาวิทยาลัยลอนดอน เรียนสามปีก็จบด้วยคะแนนดีเด่น เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง


เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเมืองไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยออกคำสั่งให้คนไทยในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเดินทางกลับ ป๋วยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ทำตามคำสั่ง ตรงกันข้ามกลับเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่น ป๋วยมีบทบาทเจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้ยอมรับขบวนการเสรีไทย


ป๋วยและเสรีไทยรวม 36 คนสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ เรียกว่ากลุ่มช้างเผือก ได้รับยศร้อยเอก ใช้ชื่อว่า นายเข้ม เย็นยิ่ง เดินทางไปกับกองทัพเรืออังกฤษ จากลิเวอร์พูลไปที่ เมืองปูนา อินเดีย ฝึกหลักสูตรการทหารนานหกเดือน และเป็นเสรีไทยชุดแรกที่มาปฏิบัติการในไทย เป้าหมายเพื่อติดต่อ รูธ หรือ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทย


กว่าจะติดต่อกับรูธได้ ป๋วยก็ต้องผ่านวิบากกรรมระหว่างการเข้ามาปฏิบัติการ ถูกชาวบ้านจับไปส่งตำรวจ ถูกจับข้อหาสายลับส่งตัวไปกรุงเทพฯ แต่เสรีไทยที่กรุงเทพฯช่วยจัดการจนได้พบ ปรีดี พนมยงค์


ปรีดี พนมยงค์ ส่งป๋วยกลับไปอังกฤษอีกครั้ง เพื่อเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับขบวนการเสรีไทยว่าเป็นรัฐบาลชอบธรรม และปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ


หลังสงครามโลก ดร. ป๋วยเดินทางกลับประเทศไทย และปฏิเสธทำงานกับบริษัทเอกชนจำนวนมาก ทิ้งโอกาสและผลประโยชน์ต่างๆ ที่เอกชนเสนอให้ เขาเลือกเข้ารับราชการ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ส่งเขาไปเรียนที่ต่างประเทศ


ดร. ป๋วยรับราชการในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพและเงินสำรองระหว่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น


ในปี 2496 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อสหธนาคารกรุงเทพจำกัด แต่ถูก ดร. ป๋วยขวางโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เนื่องจากธนาคารแห่งนี้กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ไปพบ ดร.ป๋วย ขอร้องเชิงบังคับให้ยกเลิกการปรับ แต่ ดร. ป๋วยไม่ยอม ในที่สุดธนาคารก็เสียค่าปรับ


จอมพลสฤษดิ์โกรธเคือง ดร. ป๋วยมาก ผลก็คือปลายปีนั้น ดร. ป๋วยถูกสั่งย้ายพ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง 


มิเพียงขวางทางจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขายังขัดขาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์


ในเวลานั้นอธิบดีกรมตำรวจผู้นี้มีอำนาจล้นฟ้า ไม่กี่ปีก่อนนหน้านั้น อัศวินตำรวจในสังกัดได้สังหารโหดสี่รัฐมนตรีกลางกรุง เพียงคิดจะขวางทางอธิบดีกรมตำรวจ ก็เป็นเรื่องอันตรายยิ่ง


นอกจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลตำรวจเอกเผ่าได้เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนบริษัทพิมพ์ธนบัตร จาก บริษัท ธอมัส เดอ ลา รู (Thomas de la Rue) เป็นบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา 


ดร. ป๋วยขัดขวางเรื่องนี้ ให้เหตุผลว่าผลงานของ บริษัท ธอมัส เดอ ลา รู ได้มาตรฐานกว่า การปลอมธนบัตรทำได้ยากกว่า อีกทั้งกล่าวว่าบริษัทที่พลตำรวจเอกเผ่าเสนอไม่น่าเชื่อถือ และมีชื่อในการวิ่งเต้น


รัฐบาลทำตามคำแนะนำของ ดร. ป๋วย เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจแก่พลตำรวจเอกเผ่าเป็นอย่างมาก 


เป็นที่มาของคำกล่าวว่า  มีคนสามคนถือเขาเป็นศัตรู ล้วนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน


เพื่อความปลอดภัยและลดแรงกดดันรอบทิศ พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงขอให้ ดร.ป๋วย ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ 


คนดีคนซื่อสัตย์อยู่เมืองไทยลำบาก


.……………...


ผ่านไปร่วมสองปี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหาร จอมพล ป. หนีไปเขมรและญี่ปุ่นตามลำดับ และไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเลย 


ส่วนพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ไปมอบตัวกับจอมพลสฤษดิ์ที่กองบัญชาการ คุยกันสองคำ วันรุ่งขึ้นพลตำรวจเอกเผ่าก็ขึ้นเครื่องบินไปลี้ภัยที่สวิตเซอร์แลนด์ และไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเช่นกัน


แล้วก็ถึงคราวคิดบัญชี ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งตามตัว ดร. ป๋วยมาทันที เมื่อพบตัวแล้วกล่าวว่า "ผมต้องการให้คุณมาทำงานกับผม"


ศัตรูที่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้นหายาก ศัตรูที่หาญกล้าต่อกรอำนาจที่เหนือกว่าเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนยิ่งหายาก


มีแต่ผู้นำโง่บรมโง่จึงไม่ใช้คนแบบนี้


.……………...


ย้อนหลังไป 1,800 ปี โจโฉมีศัตรูมากมาย


เมื่อรบกับอ้วนเสี้ยว เขาต้องเผชิญหน้ากับที่ปรึกษาระดับเซียนคือกุยแก เมื่อรบกับลิโป้ เขาเผชิญหน้ากับทหารยอดฝีมือเตียวเลี้ยว เมื่อรบกับเล่าปี่ เขาเผชิญหน้ากับเทพแห่งสงครามกวนอูและจูล่ง


ผู้นำทั่วไปจะหาทุกวิถีทางเข่นฆ่าคนเก่งฝ่ายศัตรูให้ด่าวดิ้น แต่โจโฉมิใช่ผู้นำทั่วไป เขาหาทุกวิถีทางดึงตัวศัตรูผู้เก่งกาจมาเป็นพวก


ที่ปรึกษาคนหนึ่งที่โจโฉเปลี่ยนจากศัตรูเป็นพวกคือกุยแก ในบรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายของเขา โจโฉไว้วางใจกุยแกที่สุด เพราะเป็นคนไม่พูดมาก ไม่อวดรู้ วิเคราะห์คนและประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำ


กุยแกเป็นชาวเมืองเอี๋ยงตี๋ ทำงานอยู่กับอ้วนเสี้ยว แต่มองไม่เห็นอนาคตของเจ้านาย เมื่อโจโฉจะดึงตัวเขามานั้น กุยแกวิเคราะห์คุณลักษณะของอ้วนเสี้ยวและโจโฉให้ฟังสิบประการ


กุยแกมิใช่คนเดียวที่พบจุด 'รักคนเก่ง' ของโจโฉ ศัตรูที่ถูกโจโฉดึงตัวมาทำงานด้วยก็เช่น เตียวเลี้ยว ซิหลง เตียวคับ ตันหลิม ฯลฯ


เตียวเลี้ยวเดิมเป็นทหารเอกของลิโป้ เมื่อลิโป้พ่ายศึกถูกจับประหาร เตียวเลี้ยวก็อยู่ในรายการประหารเช่นกัน แต่นายทหารผู้นี้ไม่สะทกสะท้าน โจโฉเคยเห็นฝีมือของเตียวเลี้ยวมาก่อน ก็เชิญตัวมาทำงานด้วยกัน กลายเป็นขุนพลคู่กายโจโฉ สร้างผลงานไว้มากมาย รบชนะทัพง่อหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเกือบจับซุนกวนได้ 


ซิหลงเดิมทำงานกับเอียวฮอง เมื่อโจโฉรบกับเอียวฮองและหันเซียม ส่งเคาทูออกไปรบ เอียวฮองก็ส่งซิหลงไปรับมือ โจโฉเห็นฝีมือของซิหลงแล้ว ก็ให้สัญญาณเคาทูถอย แล้วส่งหมันทองไปเกลี้ยกล่อมมาทำงานด้วย


เตียวคับเคยเป็นทหารเอกของอ้วนเสี้ยว เบื่อหน่ายการชิงดีชิงเด่นของเหล่าข้าราชการของอ้วนเสี้ยว โจโฉจึงดึงตัวมาทำงานด้วย


โจโฉพยายามซื้อใจกวนอู แต่ไม่สำเร็จ กระนั้นก็ยังนับถือกวนอู และไม่ฆ่าทิ้งเมื่อกวนอูหนีกลับไปหาเล่าปี่


ขุนพลจูล่งก็รอดชีวิตมาได้ เพราะโจโฉสั่งไม่ฆ่า ในศึกสะพานเตียงปันเกี้ยว


สำหรับโจโฉ ศัตรูที่เก่งกาจมีค่าควรคารวะ มิใช่ฆ่าทิ้ง


.……………...


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที แต่ให้นายพจน์ สารสิน เป็นแทน ต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจร ก็รับหน้าที่ขัดตาทัพ เมื่อสถานการณ์สุกงอมแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 


ปีนั้นคือ พ.ศ. 2502


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่งตั้งให้ ดร. ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 


ต่อมาระหว่างที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุกโลกที่ลอนดอน ดร. ป๋วยได้รับโทรเลขจากจอมพลสฤษดิ์ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร. ป๋วยปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งนี้ ให้เหตุผลว่าตนได้สาบานตอนเข้าเป็นเสรีไทยว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ยกเว้นแต่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่า การร่วมคณะเสรีไทยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง จอมพลสฤษดิ์จึงแต่งตั้ง ดร. ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย


ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ดร. ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ดร. ป๋วยในวัย 43 ปีจึงคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณของประเทศ หากมิใช่เพราะจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า ดร. ป๋วยเป็นคนซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อแผ่นดินจริงๆ ย่อมไม่ยกตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งให้


ตลอดหลายปีนั้นจอมพลสฤษดิ์ไม่ก้าวก่ายงานของ ดร. ป๋วยเลย เพราะเชื่อว่าเขาจะทำงานสุดความสามารถและสุจริต และอีกประการ ก็คงรู้ว่าก้าวก่ายไม่สำเร็จแน่ ความประพฤติของ ดร. ป๋วยตรงดุจปลายทวน ซื้อไม่ได้


ครั้งหนึ่งจอมพลสฤษดิ์พูดกับ ดร. ป๋วยว่า "บ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย ผมจะสร้างตึกให้ใหม่เอาไหม?"


ดร. ป๋วยตอบขอบคุณ แต่ปฏิเสธ


เมื่อถูกถามหลายหน ก็ตอบว่า "ภรรยาผมไม่ชอบอยู่ตึก"


.……………...


ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังมีบทบาทสำคัญอีกหลายด้านต่ออนาคตของประเทศไทย ทั้งด้านการเงินและการศึกษา เป็นผู้มีส่วนผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นพิมพ์เขียวก่อร่างสร้างประเทศ


ตลอดสิบสองปีที่ ดร. ป๋วยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นห้วงสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงทางการเมืองน้อยที่สุด เขาสามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราได้อย่างแข็งแกร่ง เริ่มนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ มากมาย อดีตเสรีไทย นายเข้ม เย็นยิ่ง เป็นบุคคลที่ต่างประเทศยกย่องนับถืออย่างยิ่ง


และเมื่อการเมืองไทยพลิกผันสู่ความโสมมอีกครั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นายเข้ม เย็นยิ่ง ก็ต้องลี้ภัยในต่างประเทศ 


สิบเอ็ดปีต่อมา เมื่อนายเข้ม เย็นยิ่ง กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยสองพันคนยืนต้อนรับเขาด้วยน้ำตา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษายืนต้อนรับ ถือป้ายข้อความว่า 'ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน'


คนดีจริงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้


คนเก่งที่ซื่อสัตย์ แม้แต่คนเกลียดก็คารวะ


คนจริงที่หาญต้านอำนาจเถื่อน แม้แต่ศัตรูก็ยำเกรง


.……………...


วินทร์ เลียววาริณ


No comments:

Post a Comment